เมื่อรู้ว่าต้องหย่า

จากบันทึกข้อเขียนโดย #โสภณ_พัชรวีระพงษ์

ในหนังสือ #เล่าถึงลูก #แตงโม_ภัทรธิดา #ตามประสาพ่อ

บรรณาธิการโดย รักชนก นามทอน

สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม @ พุทธศักราช 2548

…………………………………………………

วันหนึ่งที่รู้แน่นอนแล้วว่าไม่สามารถที่จะรักษา ‘ชีวิตคู่’ กับคุณแม่น้องโมได้ สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือจะเอาอย่างไรดีในเรื่องลูก ความที่เป็นคนรักลูกมาก ๆ คนหนึ่ง ความคิดแวบแรกคือ ลูกต้องอยู่กับเรา เราเองขาดลูกไม่ได้

เหตุผลประการที่สองก็คือ หากคิดไปถึงอนาคต เพราะในขณะที่หย่ากันนั้น ตัวคุณพ่อมีอายุประมาณสี่สิบปี คุณแม่น้องมีอายุประมาณสามสิบปี อายุเราห่างกันประมาณสิบปี ซึ่งโดยอายุของทั้งคู่กอปรกับหน้าตา สังคมและหน้าที่การงาน เป็นไปได้ว่าแต่ละฝ่ายอาจมี ‘คู่ครองใหม่’ ในอนาคต

ด้วยเหตุผลประการหลังนี้ จะยิ่งชัดเจนว่าลูกควรอยู่กับคุณพ่อมากยิ่งขึ้น เพราะว่าลูกเราเป็นลูกสาว เป็นผู้หญิง ฝ่ายหญิงหากมีคู่ครองใหม่ และหากลูกอยู่กับคุณแม่ก็จะกลายเป็นว่า วันหนึ่งลูกสาวที่ต้องโตขึ้นทุกวัน ต้องอยู่กับพ่อเลี้ยงซึ่งเป็นคู่ครองใหม่ของคุณแม่ซึ่งอาจมีปัญหาได้ เพราะเป็นเพศตรงข้ามกัน แต่หากหย่ากันไปแล้ว ลูกสาวอยู่กับคุณพ่อ หากคุณพ่อมีคู่ครองใหม่ คู่ครองเราก็จะเป็นผู้หญิงซึ่งเป็นเพศเดียวกันกับลูกสาวเรา อันตรายหรือปัญหาอันอาจเกิดขึ้นในอนาคตจะไม่มีโดยสิ้นเชิง

จึงเป็น ‘เงื่อนไข’ และเป็นข้อแม้ของคุณพ่อในระหว่างการเจรจาหย่าร้างกันว่า ยอมได้ทุกข้อ ยอมได้ทุกอย่าง เช่น บ้านที่อาศัยอยู่ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวปลูกบนเนินบนเนื้อที่ร่วมร้อยสิบตารางวา ซึ่งซื้อเป็นเรือนหอตั้งแต่ตอนแต่งงานกัน และได้ออกแบบให้มีห้องนอนของน้องโมไว้หนึ่งห้องตั้งแต่แรก เป็นบ้านที่สวยงามมาก อยู่แถวแจ้งวัฒนะ ที่อยากจะเก็บไว้เป็นสมบัติของลูก แต่คุณแม่เขาต้องการให้ขายเพื่อแบ่งสมบัติกัน ก็ยอมหมด

คุณพ่อบอกไว้ชัดเจนว่า #ต้องการอย่างเดียวคือน้องโมต้องอยู่กับคุณพ่อ หากยินยอมเมื่อใด ก็จะหย่าขาดจากกันในทันที

ยกเว้นเรื่องนี้แล้ว #เรื่องอื่นๆ #คุณพ่อยอมหมด

วันหนึ่งระหว่างนั่งทำงาน คุณแม่น้องโทรมาบอกตกลงยอมให้ลูกอยู่กับคุณพ่อ แต่เรื่องอื่น ๆ ต้องเป็นไปตามที่เขาต้องการ คุณพ่อรีบตอบทันทีว่าตกลง ไปเจอกันที่อำเภอเดี๋ยวนั้น

แล้วคุณพ่อกับคุณแม่น้องโมก็หย่ากันทันที โดยใน #บันทึกใบหย่า จะมีข้อความสำคัญเป็นข้อแรกว่า

“ข้อ 1. เรื่องบุตร เด็กหญิงภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ตกลงให้บุตรดังกล่าวอยู่ในความปกครองภาระเลี้องดูของฝ่ายชาย โดยมารดามีสิทธิ์มาเยี่ยมและนำบุตรไปอาศัยที่คุณแม่ได้เป็นครั้งคราว”

หนังสือหย่าทำกันที่สำนักงานเขตพญาไท เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2532 ในขณะที่น้องโมมีอายุประมาณห้าขวบ (แตงโม เกิด 13 กันยายน 2527) หลังจากนั้นอีกสิบกว่าวันตรงกับวันคล้ายวันเกิดปีที่สี่สิบของคุณพ่อ ก็ได้มีโอกาสฉลองวันเกิดเป็นครั้งแรกระหว่างสองคนพ่อลูก ซึ่งจะเป็นอะไรง่าย ๆ ไปนั่งกินข้าวกันธรรมดาไม่มีพิธีรีตรองอะไร

นับจากนั้น น้องโมก็ใช้ชีวิตอยู่กับคุณพ่อสองคนตราบจนทุกวันนี้💞

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *