คำถามที่หลายคนสงสัย คือทำไมโอลิมปิกที่โตเกียวครั้งนี้ ไม่มีนักยกน้ำหนักไทยเข้าแข่งขันแม้แต่คนเดียว มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เราจะไปลำดับเหตุการณ์พร้อมๆกัน

พูดถึงกีฬาโอลิมปิกแล้ว ตั้งแต่เกษราภรณ์ สุตา ได้เหรียญทองแดงจากยกน้ำหนักหญิง ที่ซิดนีย์ในปี 2000 นับจากวันนั้น ประเทศไทยได้เหรียญโอลิมปิกจากกีฬายกน้ำหนัก “ทุกครั้ง”

– เอเธนส์ 2004: ทอง : อุดมพร พลศักดิ์ (53 กก.), ทอง : ปวีณา ทองสุก (75 กก.), ทองแดง : อารีย์ วิรัฐถาวร (48 กก.), ทองแดง : วันดี คำเอี่ยม (58 กก.)

– ปักกิ่ง 2008: ทอง : ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล (53 กก.), ทองแดง : เพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล (48 กก.), ทองแดง : วันดี คำเอี่ยม (58 กก.)

– ลอนดอน 2012 : เงิน : พิมศิริ ศิริแก้ว (58 กก.), ทองแดง : ศิริภุช กุลน้อย (58 กก.)

– ริโอ 2016 : ทอง : โสภิตา ธนสาร (48 กก.), ทอง : สุกัญญา ศรีสุราช (58 กก.), เงิน : พิมศิริ ศิริแก้ว (58 กก.), ทองแดง : สินธุ์เพชร กรวยทอง (ชาย 56 กก.)

ว่าง่ายๆ คือช่วงหลัง ยกน้ำหนัก เป็นกีฬาความหวังอันดับ 1 ที่เรามีโอกาสได้เหรียญทอง มากยิ่งกว่ามวยสากลสมัครเล่นเสียอีก และตามหลักในโตเกียว 2020 เราก็ควรมีโอกาสลุ้นเหรียญทองอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเภทหญิงรุ่นเล็ก

แต่อย่างที่ทราบกันว่า ในโอลิมปิกครั้งนี้ ไม่มีนักกีฬาไทยเลยแม้แต่คนเดียว เหตุผลคือเราโดนสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ (IWF) สั่งแบน ไม่ให้เข้าร่วมในการแข่งขันใดๆ เป็นเวลา 3 ปี

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจแบ็กกราวน์ก่อนว่า ตั้งแต่จบโอลิมปิกที่ริโอเป็นต้นมา คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) มีความเข้มงวดมากๆ เรื่องการใช้สารกระตุ้น เราคงเห็นแล้วว่า พวกเขากล้าแบนประเทศรัสเซียออกไปจากโอลิมปิกเลย เพราะไม่สามารถจัดการเรื่องการใช้สารต้องห้ามได้อย่างดีพอ

ไม่เพียงแค่นั้น กีฬาอะไรก็ตามที่มีความเชื่อมโยงกับการโด๊ป ทาง IOC ก็พร้อมจะตัดทิ้ง เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของโอลิมปิกให้สะอาดมากขึ้น อย่าลืมว่ามีกีฬาอีกมากมายที่พร้อมจะรอเสียบเพื่อจะได้เข้ามาอยู่ในโอลิมปิกอีกเพียบ เช่นรักบี้, แฮนด์บอล, คริกเก็ต ฯลฯ

สำหรับยกน้ำหนัก เป็นกีฬาที่โดนจับตามองมากที่สุด ว่าอาจโดน IOC ตัดทิ้งจากโอลิมปิก เพราะเป็นการแข่งที่ใช้พลังร่างกายโดยตรง และมีข่าวเรื่องนักกีฬาใช้สารกระตุ้นอยู่บ่อยๆ

ดังนั้นเพื่อให้ IOC เห็นถึงความตั้งใจจริง ทางสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติจึงเพิ่มความเข้มงวดเรื่องสารกระตุ้นหลายเท่า เพื่อไม่ให้มีข้อครหาเกิดขึ้นได้อีก

หลังจบโอลิมปิกที่ริโอ ในปี 2016 ทีมยกน้ำหนักไทย เข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย คว้ามา 1 เงิน 6 ทองแดง จากนั้นก็เตรียมตัวลงแข่งเก็บคะแนนสะสม เพื่อคว้าโควต้าไปโอลิมปิกที่โตเกียวต่อ

ปัญหามาเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2018 ในรายการยกน้ำหนักชิงแชมป์โลกที่เติร์กเมนิสถาน สมาคมยกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันปกติ แต่ในคราวนี้ สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ร่วมมือกับศูนย์ต่อต้านการโด๊ป (WADA) ทำการปูพรมตรวจสารกระตุ้นอย่างเข้มข้นด้วยวิธี IRMS ซึ่งจะได้ผลการตรวจที่แม่นยำยิ่งกว่าเดิม

และผลการตรวจโด๊ปของ IWF ประกาศผลออกมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2019 ปรากฏว่ามีนักกีฬาไทย “9 คน” ที่ถูกตรวจพบสารต้องห้ามในร่างกาย

ซึ่งเมื่อรวมกับผลการตรวจสารต้องห้ามในยูธ โอลิมปิกที่อาร์เจนติน่า ที่ประกาศออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน ก็มีนักกีฬาไทยใช้สารต้องห้ามอีก 1 คน เท่ากับว่า รวมแล้วมีนักกีฬายกน้ำหนักไทย ถูกพบว่าใช้สารต้องห้าม เป็น “10 คน” พอดี

ในระหว่างการสืบสวนว่าเกิดอะไรขึ้น ทาง IWF จึงสั่งห้ามนักกีฬาไทยเข้าร่วมแข่งขันทุกรายการไปก่อน จนกว่าจะมีคำตัดสินออกมา นั่นคือเหตุผลว่าทำไมในเดือนกันยายนปี 2019 ตอนที่ไทยเป็นเจ้าภาพยกน้ำหนักชิงแชมป์โลกที่พัทยา แต่เราไม่สามารถส่งผู้เล่นไทยลงแข่งได้แม้แต่คนเดียว คือต้องเป็นเจ้าภาพเฉยๆ จัดให้คนอื่นแข่ง ว่างั้นเถอะ

เมื่อคำประกาศจาก IWF ถูกเผยแพร่ออกมา สมาคมยกน้ำหนัก ก็สับสนมาก ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง เพราะนักกีฬาไทยทุกคนได้รับการสอนอย่างดีมาตลอด ว่าให้ระมัดระวังเครื่องดื่ม อาหาร ยาที่กิน และ ยาที่ฉีดทุกประเภท มันเป็นไปได้งั้นหรือ ที่นักกีฬาจะใช้สารกระตุ้นพร้อมกัน 10 คนขนาดนั้น

แต่ก็แน่นอนว่า ข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านการโด๊ปอย่าง WADA ไม่มีทางผิดพลาดอยู่แล้ว มันต้องมีรูโหว่ที่ตรงไหนสักแห่งที่ทางเราพลาดไปเอง

สมาคมฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน รวมถึงร้อยเอกหญิงปวีณา ทองสุก เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกด้วย และหลังใช้เวลาสืบสวนอยู่พักหนึ่งก็ค้นพบความจริง ว่าสารต้องห้ามนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกิน หรือ ฉีด แต่เป็นการใช้เจลแบบพิเศษสำหรับทา แล้วมีการซึมเข้าร่างกายผ่านทางผิวหนัง

ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน 2017 สมาคมฯ แต่งตั้ง หลิว หนิง โค้ชชาวจีน มาเป็นผู้ฝึกสอนยกน้ำหนักทีมชาติไทย ซึ่งการซ้อมก็มีไปอย่างปกติ แต่สิ่งที่หลิว หนิง ชอบทำ คือเวลาที่นักกีฬามีอาการเจ็บข้อกระดูกและกล้ามเนื้อ เขาจะนำยาแบบกระปุกจากประเทศจีนมาใช้กับนักกีฬาด้วยการทา โดยกล่าวว่าเป็นเจลใสแบบพิเศษ ที่จะช่วยลดอาการบาดเจ็บได้

เมื่อใช้เจลพิเศษแล้วได้ผล ทำให้หลิว หนิง ก็ใช้กับนักกีฬามาโดยตลอดเป็นเวลา 1 ปีเต็ม (2017-2018) ซึ่งระหว่างนั้น นักกีฬาไทยก็ไปแข่งหลายรายการ มีการตรวจปัสสาวะโดยวิธีปกติ แต่ก็ไม่พบเจอสารกระตุ้นอะไร ทุกคนจึงไม่ได้สนใจเรื่องเจลนี้เลย

พอมาถึงรายการใหญ่ ศึกยกน้ำหนักชิงแชมป์แห่งโลก ที่เติร์กเมนิสถาน คราวนี้ผู้จัดการแข่ง ใช้วิธีการตรวจแบบ IRMS คือจะเจาะลึก แบบเข้มเป็นพิเศษ ก็มาตรวจพบว่า เจลนี้มีฤทธิ์ของสารต้องห้าม และเมื่อมันซึมเข้าร่างกาย นักกีฬาไทยจึงโดนตรวจจับว่าใช้สารต้องห้ามในที่สุด

สมาคมฯ แถลงการณ์ว่า “นักกีฬาได้รับการอบรมว่า การใช้สารต้องห้าม มาจากการกิน การดื่ม หรือการใช้ยาฉีดเท่านั้น ไม่เคยทราบมาก่อนว่ายาทา หรือยานวด จะเป็นการซึมเข้าไปแล้วทำให้เกิดการออกฤทธิ์ของสารต้องห้ามด้วย ดังนั้นทุกคนที่ใช้เจลรักษาอาการบาดเจ็บ จึงรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้จงใจหรือตั้งใจกระทำ”

ขณะที่ผู้ฝึกสอนชาวไทย 4 คน ก็ให้การว่า ไม่ทราบมาก่อนเลยเช่นกันว่าเจลพิเศษของหลิวหนิง มีสารต้องห้ามเป็นส่วนประกอบ

เรื่องนี้ได้รับการจับตามองจากทั่วโลกเป็นอย่างมาก เพราะการที่นักกีฬาโดนจับโด๊ป 10 คนพร้อมกันในทัวร์นาเมนต์เดียว มันไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว ถ้าคุณไม่จงใจ ก็ต้องผิดพลาดอย่างร้ายแรงจริงๆ

ก่อนที่ IWF จะประกาศว่าบทลงโทษของสมาคมยกน้ำหนักของไทย จะรุนแรงแค่ไหน มีดราม่าอีกเรื่องซ้อนเข้าไปอีก เมื่อนักข่าวชาวเยอรมันจากสถานีโทรทัศน์ ARD กำลังทำสารคดีสืบสวนเจาะข่าวเรื่องการใช้สารกระตุ้นในกีฬายกน้ำหนักของไทย เขาปลอมตัวเข้ามาพูดคุยกับ ศิริภุช กุลน้อย อดีตนักยกน้ำหนักเหรียญทองแดงจากโอลิมปิกที่ลอนดอนในปี 2012

ศิริภุช ทำงานอยู่ที่ฟิตเนสแห่งหนึ่ง ซึ่งเธอโดนนักข่าวชาวเยอรมันคนนี้แกล้งทำเป็นลูกค้าที่สนใจเป็นสมาชิกฟิตเนส และเริ่มต้นพูดคุยกับศิริภุชในหลายประเด็น ก่อนจะแอบอัดเสียงเอาไว้

วันที่ 5 มกราคม 2020 สถานี โทรทัศน์ ARD ลงสารคดีในชื่อ “คำสารภาพ” โดยมีเสียงหลุดของศิริภุช พูดว่านักยกน้ำหนักไทยใช้สารต้องห้ามกันตั้งแต่อายุ 13 ปี ซึ่งคลิปนี้ ได้ถูกเอาไปเปิด ในการประชุมใหญ่ของ IOC ด้วย

ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายยับเยิน และบุษบา ยอดบางเตย นายกสมาคมขณะนั้น จึงขอแสดงสปิริต นำกรรมการสมาคมฯ ลาออกทั้งคณะ

เรื่องมันใหญ่ขนาดที่ IOC ออกมาแถลงเลยว่า “เป็นประเด็นที่ซีเรียส และไม่สบายใจอย่างมาก” มันยิ่งทำให้นักกีฬาไทยโดนเพ่งเล็งเข้าไปใหญ่ว่า อ้าว ที่ผ่านมา ชนะเพราะแอบใช้สารกระตุ้นหรือเปล่า กลายเป็นโดนดิสเครดิตผลงานในอดีตไปอีก

ถึงแม้ประเด็นของสถานีโทรทัศน์ ARD สมาคมฯ จะล้างมลทินได้ในภายหลังว่า การสื่อสารของนักข่าวเยอรมันกับศิริภุช เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ศิริภุชเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2011 ที่มีคนใช้สารกระตุ้นจริง และโดนลงโทษไปแล้ว แต่นักข่าวเยอรมันเอาไปตัดต่อ ราวกับเป็นเรื่องในปัจจุบัน เลยกลายเป็นดราม่าที่ไปไกลเกินกว่าเหตุมาก

แม้ความจริงจะเป็นแบบนั้น แต่กับความรู้สึกที่คนภายนอก โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ที่มีต่อวงการยกน้ำหนักไทยก็คือมองแย่ไปแล้ว และหลายคนก็เชื่อว่า ประเด็นนี้ มีผลต่อการวินิจฉัยบทลงโทษของ IWF ด้วย

5 เมษายน 2020 IWF ประกาศผลสอบสวนออกมา ได้ข้อสรุปว่าประเทศไทย “ผิดจริง” และสมาคมฯ จะโดนแบนไม่ให้ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันทุกรายการของการแข่งยกน้ำหนัก เป็นเวลา 3 ปี จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2023 พร้อมปรับเงินอีก 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ไทยจะมีเวลาอุทธรณ์ได้ 21 วัน

นั่นหมายความว่าโอลิมปิกที่โตเกียว และ เอเชียนเกมส์ที่หังโจว ไทยก็จะไม่สามารถส่งใครไปแข่งได้ เพราะอยู่ใน Period ของการโดนแบนนั่นเอง

สมาคมฯ เมื่อรู้ว่าโดนแบน จึงยื่นเรื่องขออุทธรณ์กับศาลกีฬาโลกทันที โดยส่งเอกสาร 52 หน้า ยืนยันความบริสุทธิ์ใจว่านักกีฬาไม่รู้จริงๆ ว่าเจลที่ใช้มีฤทธิ์สารต้องห้ามด้วย

ศาลกีฬาโลกใช้เวลาวินิจฉัยราวๆ 1 ปี สุดท้าย ในวันที่ 19 เมษายน 2021 ก็เห็นคล้อยตามกับสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ โดยศาลกีฬาโลกใช้คำว่า “ประเทศไทยเลินเล่อเอง ที่ไม่ให้ความรู้กับนักกีฬามากพอ”

โดยศาลกีฬาโลกหวังว่าเคสของไทย จะเป็นบทเรียนให้สมาคมฯ ของประเทศต่างๆ ใส่ใจเรื่องการใช้สารต้องห้ามมากกว่านี้ และให้ความรู้กับนักกีฬาเพิ่มมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ศาลกีฬาโลกยังมีความปราณี เมื่อลดโทษแบนลงเล็กน้อย จากเดิมจะสิ้นสุดโทษแบนวันที่ 1 เมษายน 2023 ก็ลดโทษเหลือแค่ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2022 ซึ่งแปลว่า นักกีฬาไทยจะเข้าร่วมแข่งขันเอเชียนเกมส์ ที่หังโจวได้

แต่ศาลกีฬาโลกเน้นย้ำว่า สมาคมยกน้ำหนักของไทย ต้องแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจน และมีหลักฐานให้เห็นว่า ร่วมแรงร่วมใจในการต่อต้านการใช้สารต้องห้าม ว่าง่ายๆ คือ คาดโทษไว้ก่อนนั่นแหละ ถ้าหากเห็นว่าผิดอีก คราวนี้แม้แต่เอเชียนเกมส์ ก็คงจะไม่ได้ไปแข่งด้วย

สำหรับบทสรุปของเรื่องนี้ นิพนธ์ ลิ่มบุญสืบสาย ฝ่ายกฎหมายต่างประเทศ ของสมาคมฯ อธิบายว่า “ทางเราน้อมรับคำตัดสินทุกประการ นอกจากนี้ สมาคมฯ ก็ได้มีหลายสิ่งที่พวกเราจำเป็นต้องถอดบทเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก”

ความผิดพลาดของสมาคมฯ ในการโดนแบนครั้งนี้ คือไม่ให้ความรู้กับนักกีฬามากพอว่าสารกระตุ้นสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง นอกจากนั้นก็ยังเชื่อใจโค้ชชาวจีนมากเกินไป จนไม่รู้เลยว่าเอาอะไรมาใช้กับนักกีฬาบ้าง กว่าจะมารู้ตัวอีกทีมันก็สายเกินแก้แล้ว

นี่คือบทเรียนสำคัญที่มีราคาแพงมากจริงๆ ของสมาคมยกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย แต่มันก็ผ่านไปแล้ว มาตีโพยตีพายตอนนี้ก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไร เก็บทุกอย่างไว้เป็นประสบการณ์ก็พอ

เพียงแต่หวังว่า เมื่อล้มลงด้วยความเจ็บปวดแบบนี้ พวกเขาจะลุกกลับขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่งกว่าเดิม เพื่อที่ในโอลิมปิกครั้งต่อไปที่ปารีส ในปี 2024 สมาคมฯ ยกน้ำหนัก จะได้กลับมาเป็นความหวังของคนไทยอีกครั้ง. #LESSONSLEARNED

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *