บ่ายวันนี้ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งโทรมาสอบถามเรื่องเพลง ‘ดวงจำปา’
เลยไปคว้าหนังสือ ‘สืบทาวลาวมะโหลี’ มาอ่านอีกที
ภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้ มีบทความพิเศษ
‘เพลงดวงจำปา ความเป็นจริงบางด้านที่ถูกมองข้าม’
—————————
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยึดครองลาว
ขับไล่ฝรั่งเศสออกไป มอบเอกราชให้ลาว
เจ้ามหาชีวิต และเจ้าเพ็ดชะลาด จึงปลุกระดมคนลาว
ให้ลุกขึ้นมาต่อต้านการรุกรานของต่างชาติ
—————————-
มะหาพูมี จิดตะพง เลขาสภาผู้แทนฯสมัยนั้น
ถูกมอบหมายให้แต่งเพลงชาติลาว และแต่งเพลงปลุกระดมจิตใจรักชาติ
ปี 1942 (2485) มะหาพูมี แต่งเพลง ‘ดวงจำปา’
โดยมีท่านอุตะมะ จุลามะนี เรียบเรียงดนตรี
ผู้ที่ร้องเพลงนี้คนแรกคือ ท่านบุนทะมาลี บุนช่วย (ปู่ของอาเล็กซานดร้า บุนช่วย)
————————
มะหาพูมี เป็นชาวหลวงพระบาง บวชเรียนแต่เด็ก
ท่านเป็นหนึ่งในคณะสงฆ์ลาวที่เจ้าเพ็ดชะลาดส่งไปเรียนหนังสือที่เขมรและไทย
มะหาพูมี เป็นเจ้าอาวาสวัดเซียงแว่ เมืองสีโคดตะบอง นครหลวงเวียงจันทน์
ช่วงญี่ปุ่นไล่ฝรั่งเศสออกไป ท่านลาสิกขา มาทำงานที่สภาผู้แทนฯ
——————————-

คำร้องเพลง ‘ดวงจำปา’ ที่ถูกต้อง ต้นฉบับของมะหาพูมี
….
โอ้ดวงจำปา เวลาชมน้อง นึกเห็นพันช่อง
มองเห็นหัวใจ เฮานึกขึ้นได้ ในกลิ่นเจ้าหอม
…..
เห็นสวนดอกไม้ บิดาปลูกไว้ ตั้งแต่นานมา
เวลาหง่วมเหงา เจ้าช่วยบันเทา เฮาหายโศกา
เจ้าดวงจำปา คู่เคียงเฮามา แต่ยามน้อยเอย
……
กลิ่นเจ้าสำคัญ ติดพันหัวใจ เป็นหน้าฮักใคร่
แพงไว้เชยชม ยามเหงาเฮาดม โอ้จำปาหอม
…..
เมื่อดมกลิ่นเจ้า ปานพบชู้เก่า ที่พรากจากไกล
เจ้าเป็นดอกไม้ ที่งามวิไล ตั้งแต่ใดมา
เจ้าดวงจำปา มาลาขวัญฮัก ของเฮียมนี้เอย
…..
โอ้ดวงจำปา บุปผาเมืองลาว งามดั่งดวงดาว
ชาวลาวเพิงใจ เกิดอยู่ภายใน ดินแดนล้านช้าง
ถ้าได้พลัดพราก เนรเทศจาก บ้านเกิดเมืองนอน
เฮาจะเอาเจ้า เป็นเพื่อนร่วมเหงา เท่าสิ้นชีวา
เจ้าดวงจำปา มาลางามยิ่ง มิ่งเมืองเฮาเอย
———————-

ตอนหลัง มีการนำมาร้องใหม่เปลี่ยนชื่อเป็น ‘จำปาเมืองลาว’
และเพลงนี้ กลายเป็น ‘เพลงปฏิวัติลาว’ ได้อย่างไร?
รออ่านตอนต่อไป…
————————-

หมายเหตุ : คำร้องท่อนแรก “นึกเห็นพันช่อง” ก็คือ นึกเห็นมวยผมผู้หญิง
ที่อาจเป็นแม่หรือคนรัก(ชู้) ไม่ได้ร้องว่า ‘บ้านช่อง’
คำว่า ‘ช่อง’ ในภาษาลาวหมายถึง มวยผมผู้หญิงยุคก่อน
———————-
ขอบคุณ
ปันยา พันทะพานิด
พระไพวัน มาลาวง
ที่ทำให้ ‘มะหาพูมี จิดตะพง’ มีที่ยืนในสังคมลาวอีกครั้ง
