เวียดนามถูกบีบจากรัฐบาลสหรัฐให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก UPOV1991 เมื่อปี 2006 แลกกับการสนับสนุนให้เวียดนามเข้าร่วม WTO แต่สิบกว่าปีผ่านไป กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท และสมาคมเมล็ดพันธุ์เวียดนามพบว่า ภาคเกษตรกรรมของเวียดนามปัจจุบันกลับต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากต่างชาติ สวนทางกับคำชวนเชื่อของ UPOV และข้อมูลจากกลุ่มสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP
กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทบเปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันระบบเกษตรกรรมของเวียดนามกำลังพึ่งพาต่างชาติในระดับที่เป็นอันตราย โดยข้อมูลจากศุลกากรของเวียดนามระบุว่าในปี 2559 เวียดนามนำเข้าพันธุ์พืชเกือบ 150,000 ตัน ซึ่งรวมทั้งข้าว ข้าวโพด และพันธุ์ผัก
Dr. Nguyen Ngoc Kinh เลขาธิการสมาคมเมล็ดพันธุ์เวียดนามให้ข้อมูลว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ปลูกในเวียดนามแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) เมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วไปส่วนใหญ่ผลิตในเวียดนาม (งานศึกษาของ Mau Dung Nguyen ระบุว่า พันธุ์ข้าวที่ใช้ในเวียดนาม 45.6% มาจากโครงการวิจัยของรัฐ ก่อนหน้าการเข้าร่วม UPOV1991) 2) ส่วนที่พันธุ์ข้าวลูกผสม (Hybrid rice)นั้น 70-80 % เป็นการนำเข้าจากประเทศจีน โดยมีปริมาณมากกว่า 7,000 ตันต่อปี ราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมจากจีนนั้นแพงกว่าราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วไปกว่า 7 เท่า โดยปกติราคาเมล็ดข้าวจะอยู่ที่ประมาณ ก.ก.ละ 10,000 – 15,000 ด่อง แต่ข้าวลูกผสมจากจีนมีราคาขายสูงถึง 70,000 – 80,000 ด่อง
ศาสตราจารย์ Bùi Chí Bửu อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรแห่งภาคใต้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมล็ดพันธุ์ที่นำเข้ารองลงมาคือเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม โดยนำเข้ามาประมาณ 80-90% ของความต้องการใช้ทั้งหมด เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์ต่างชาติ เช่น ซีพี มอนซานโต้-ไบเออร์ ซินเจนทา เป็นต้น บริษัทเมล็ดพันธุ์ต่างชาติมีกลยุทธการขายครบวงจร ให้สินเชื่อเกษตรกรก่อน 4-5 เดือน แล้วนำผลผลิตขายคืนให้กับบริษัทเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ ราคาเมล็ดพันธุ์ที่ขายแพงก็กว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของเวียดนามถึง 2 เท่า แต่ก็ยังขายได้ด้วยกลยุทธการขายที่เหนือกว่า เช่น การให้โบนัสตัวแทนการขาย เป็นต้น เขากล่าวว่ารายได้จากภาคการเกษตรของเวียดนามทั้งๆที่ขายในประเทศและส่งออก ไม่ใช่รายได้เข้ามาสู่เวียดนามทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งถูกหักเป็นต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทต่างชาติ และนับวันมันจะมีราคาแพงมากขึ้นทุกที
ส่วนศาสตราจารย์ Nguyen Ngoc Kinh เห็นว่า สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือการอนุญาตข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมในเวียดนาม “การที่กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทได้ให้การสนับสนุนการปลูกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการผูกขาดพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น ไม่ต้องพูดถึงว่าหากการพัฒนาอย่างแพร่หลายของข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมนั้นเป็นการนำเข้าแทบทั้งหมด และในความเป็นจริง จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ความปลอดภัยทางชีวภาพ ของพืชดัดแปลงพันธุกรรมต่อสุขภาพของมนุษย์” Nguyen Ngoc Kinh กล่าว
ตลาดเมล็ดพันธุ์ผักก็เช่นกัน Nguyen Quoc Vong ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ผัก (SSC) ระบุว่า ตลาดเมล็ดพันธุ์ของเวียดนามซึ่งมีมูลค่าประมาณ 660 ล้านดอลลาร์นั้น เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติทั้งสิ้น เช่น มอนซานโต้-ไบเออร์ อีสต์เวสต์ รวมทั้งซาคาตะ กับ ทาคิอิ ของญี่ปุ่น
การพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ต่างชาติเป็นปัญหาใหญ่ในในแง่ความมั่นคงทางอาหาร แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ สิ่งที่เรียกว่า “สมองไหล” โดย ดร. Le Quy Kha กล่าวว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติหลายแห่งได้จ่ายเงินเดือนสูงเพื่อดึงดูดนักปรับปรุงพันธุ์ชาวเวียดนามที่มีทักษะไปเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ของเวียดนามจึงไม่แข็งแกร่งอีกต่อไป”
สิ่งที่ UPOV โฆษณาชวนเชื่อว่า การเข้าร่วม UPOV1991 ทำให้เกิดความก้าวหน้าในการปรับปรุงพันธุ์ขนานใหญ่ ที่แท้ก็คือความก้าวหน้าของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ไม่ใช่ความเข้มแข็งของการวิจัยของหน่วยงานรัฐและบริษัทเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นของเวียดนามจริงๆ ดังเสียงสะท้อนจากระทรวงเกษตรฯและผู้คนในวงการเมล็ดพันธุ์ของเวียดนามเอง
ที่มา :
https://bit.ly/3qiB7Bw
https://bit.ly/3qiY1Zz
https://bit.ly/3x3EtKY