Letter of marque and reprisal (lettre de marque, de course)
คือใบอนุญาติให้กองเรือเอกชนสามารถติดอาวุธ เกณฑ์นักรบ เข้าปล้นสะดมและยึดเรือชาติศัตรู โดยทรัพย์ที่ยึดได้จะถูกนำมาแบ่งกับรัฐบาล

โจรสลัดของรัฐเหล่านี้จะเรียกว่า privateer หรือ corsair ในฝรั่งเศษ ซึ่งแตกต่างกับโจรสลัดทั่วไป (piracy) ที่ไร้สังกัด เข้าปล้นเรือทุกชาติ

การทำสัญญาแบบนี้พบครั้งแรกในยุคของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 3 แห่งอังกฤษ ปี ค.ศ. 1243และเริ่มเป็นที่นิยมไปทั่วยุโรปในคริสตศตวรรษที่ 16

สำหรับรัฐ วิธีนี้คล้ายๆกับทหารรับจ้าง ข้อดีคือรัฐไม่ต้องเสียเงินสร้างและบำรุงกองทัพเอง แถมได้เงินจากการปล้นอีกด้วย เป็นวิธี win-win เหมาะกับยุคที่ท้องทะเลไร้ระเบียบ ไร้กฎหมาย ยากที่รัฐจะจัดระเบียบด้วยกำลังทหารแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยง หลายครั้งที่หมดสัญญาหรือสงครามยุติแล้วกองเรือเหล่านี้กลับยังคงปล้นต่อกลายเป็นโจรสลัดที่ควบคุมไม่ได้

สำหรับกองเรือเอกชนติดอาวุธ สัญญานี้คือใบอนุญาติสู่การปล้นสะดม อย่างถูกกฎหมาย นอกจากจะช่วยชาติกำจัดเรืออริราชศัตรู ก็ถือเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้อย่างมหาศาล

(เคยมีกองเรือจากเกาะเล็กๆชื่อว่า เกิร์นซีย์ เข้ายึดกองเรืออเมริกันและฝรั่งเศษในช่วงสงครามปฎิวัติอเมริกา รับทรัพย์ไป 900,000 ปอนด์ ตีเป็นเงินไทยปัจจุบันก็ 3 พันล้านบาท)

ผลตอบแทนที่มหาศาลทำให้ privateer เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็นกองกำลังทางทะเลหลักของชาติยุโรปในช่วงคริสตวรรษที่ 17-18

แต่ก็มีความเสี่ยง นอกเหนือจากความเสี่ยงที่จะโดนฆ่าส่งไปเฝ้าก้นทะเลจากข้าศึก ก็ต้องระวังหลังไว้ เพราะหากรัฐไม่รับรองสัญญาที่ทำไว้ด้วยเหตุผลใดๆ สิ่งที่ทำก็ถือเป็นโจรสลัดเถื่อน ต้องโทษแขวนคอ

ในยุคของราชินีอลิซาเบธ นอกจาก privateer จะใช้ในการปล้นสะดมและโจมตีกองเรือศัตรู ยังเป็นกำลังหลักในการเดินทางสำรวจดินแดนและเส้นทางเดินเรือใหม่ๆอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น Sir Francis Drake โจรสลัดอังกฤษในตำนาน อัศวินคนรวยและคนโปรดของราชินีอลิซาเบธ ผู้เดินทางรอบโลกคนแรกของอังกฤษ ผู้จมกองเรือ อมาดา อันยิ่งใหญ่ของสเปน คนนี้ก็เป็น privateer

ถือได้ว่า Letter of marque and reprisal เป็นส่วนสำคัญของการขึ้นเป็นมหาอำนาจทางทะเลของอังกฤษ (ก็ไม่ต้องแปลกใจว่ากองเรือสำรวจของยุโรปจะ สำรวจไป ปล้นไป ฆ่าไป)

เรือของ privateer มักเป็นเรือรบเก่า หรือ เรือสินค้าที่เอามาติดอาวุธ มักจะล่องเดี่ยวๆหรืออาจจะร่วมรบกับกองทัพเรือ เหมือนที่อเมริกันใช้กองเรือผสมนี้ต้านกองทัพเรือของอังกฤษในสงครามปฏิวัติอเมริกา

หากใครสนใจ มีทุนทรัพย์ พอจะหาเรือสภาพดีได้ ชื่นชอบความท้าทาย ชอบการผจญภัย ก็สามารถลงชื่อได้กับทางการ พร้อมระบุรายละเอียดของเรือ ลูกเรือ อาวุธ ตกลงส่วนแบ่งกับรัฐให้เรียบร้อย สัญญาว่าจะปฏิบัติตามกฎสงคราม จะดูแลเชลยศึกตามกฎหมาย พร้อมวางมัดจำ 1500 ปอนด์ (5 ล้านบาทปัจจุบัน)

หากปล้นสำเร็จ ต้องลากเรือไปยังศาลพาณิชย์นาวีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของสัญญา และ ตรวจสอบเรือที่ไปปล้นมาว่าเป็นเรือศัตรูจริงหรือเปล่า (บางทีก็ปล้นฆ่าแล้วยัดธงศัตรู หรือ ธงไม่ตรงกับเรืออยู่แล้ว ซึ่งตรวจสอบยาก) หากตรวจสอบผ่านก็จะนำไปขายทอดตลาดและมาแบ่งให้ลงตัวระหว่าง รัฐ กัปตัน และ ลูกเรือ

แต่ถ้าปล้นล้มเหลว แต่ยังโชคดีที่ไม่โดนฆ่าตายกลายเป็นปุ๋ยปะการัง ใบสัญญานี้จะถือว่าเราเป็นเชลยศึกซึ่งเราจะถูกดูแลตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ถ้าไม่มีก็ถือว่าเราเป็นโจรสลัดซึ่งนับเป็นศัตรูกับคนทั้งโลก (Hostis humani generis) ก็จะโดนแขวนคอไปตามระเบียบ

เมื่อใบสัญญามีผลต่อกฎหมาย ทำให้มีโจรสลัดหัวใสบางรายก็หาช่องทางช้อปปิ้งใบสัญญานี้กับทุกฝ่ายของสงครามเพื่อใช้เป็นทางหนีทีไล่ หรือมีโจรสลัดที่ติดสินบนเพื่อปล้นเรือชาติเดียวกันหากไม่สำเร็จก็จะถูกส่งไปยังเจ้าหน้าที่ที่พร้อมจะปล่อยตัว

มีเส้นบางๆระหว่างกองเรือเอกชนติดอาวุธเหล่านี้กับโจรสลัด แต่นั่นคือความเป็นและตาย และบางครั้ง privateer ก็ซวย เช่น เมื่อตอน Ireland ก่อกบฎเมื่อคริสตวรรษที่ 16 ศาลอังกฤษไม่รับสัญญาที่กองเรือเอกชนกองหนึ่งได้ทำสัญญาไว้กับ Ireland ทำให้ต้องรับข้อหาโจรสลัดและจบด้วยการแขวนคอ หรือช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกันที่ ฝั่งสหภาพ(ฝั่งไม่เอาทาส)จับกองเรือเอกชนของฝั่งสมาพันธรัฐ (ฝั่งเอาทาส) โดยบอกว่าเราไม่นับสมาพันธรัฐเป็นรัฐ สัญญาของกองเรือพวกนายไร้ผล กองเรือนายเป็นโจรสลัด และต้องนำไปประหาร แต่หลังจากประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันแห่งสมาพันธ์ออกมาขู่จะแขวนคอเชลยฝั่งสหพันธ์เท่ากับจำนวนลูกเรือที่จะประหาร คอลูกเรือกองนี้ก็ปลอดภัย ไม่ประหารละ ถือเป็นเชลยศึกแทน (ซะงั้น)

นอกจากนี้หากทางการจับได้ว่ากองเรือนี้ไม่ทำตามกฎสงคราม ดูแลเชลยไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิ์ถูกยกเลิกสัญญา ริบส่วนแบ่งรางวัล ริบเงินมัดจำ ไปจนถึงได้รับโทษทางการกฎหมาย

มีความพยายามในการตกลงให้ยกเลิกการ privateer มาเป็นร้อยปี เพราะในทางปฏิบัติแล้วเนี่ยก็เหมือนว่ารัฐเป็นคนให้ท้ายโจรสลัดซึ่งไม่สามารถควบคุมprivateerได้เลย โดยหลังสงครามไครเมีย ปี 1856 ก็มีการลงนามเป็นปฏิญญาปารีสเมื่อปี 1856 (Paris Declaration Respecting Maritime Law) ลงชื่อ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ออสเตรีย, ปรัสเซีย, รัสเซีย, ซาร์ดิเนีย และ จักรวรรดิ์ออโตมัน

โดยห้ามรัฐทำสํญญา Letter of marque ห้ามยึดสินค้าที่ไม่ใช่ยุทธภัณฑ์ของเรือที่เป็นกลางหรือศัตรู โดยจะบังคับใช้ระหว่างประเทศที่ลงนาม ดังนั้นหลังจากข้อตกลงเหล่านี้ออกมา privateerในยุโรปก็นับว่าสิ้นสุด

ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ลงชื่อในปฏิญญาโดยอ้างว่า ประเทศเราพึ่งเกิดใหม่ สงครามภายในก็ยังคุกรุ่น พวกนายมีกองทัพเรือใหญ่ๆ แต่เราไม่มี หากมีใครบุก (คงหมายถึงชาติยุโรปนั่นแหละ) เราก็ยังต้องพึ่งเรือเอกชนเหล่านี้อยู่ แต่จะเคารพหลักของปฎิญญาดังกล่าว

แม้ปัจจุบัน กองทัพเรือสหรัฐจะแข็งแกร่งที่สุดในโลกไปแล้ว แต่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (Article l ,Section 8 , Clause 11) ก็ยังคงระบุว่าสหรัฐมีอำนาจในการทำสัญญา Letter of marque and reprisal เช่นเดียวกับการประกาศสงคราม แต่นับจากปี 1856 อเมริกาก็ยังไม่เคยมี privateer อีกเลย

  • https://en.wikipedia.org/wiki/Letter_of_marque#Early_history
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Privateer
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Francis_Drake
  • https://constitution.congress.gov/browse/article-1/section-8/clause-11/
  • https://www.britannica.com/topic/letter-of-marque

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *