จากรายงานการสำรวจสภาพธุรกิจครั้งที่ 10 ของธุรกิจญี่ปุ่นในต่างประเทศ โดย Japan Finance Corporation สถาบันการเงินสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก มีผู้ตอบแบบสอบถาม 1,529 บริษัท พบว่า “ปัญหาค่าแรงและการระบาดของโควิด-19” คือปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจที่สุด ส่งผลต่อแนวโน้มการขยายการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นในปีนี้ อยู่ที่ 33.4% ลดลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 43.1% ขณะเดียวกัน บริษัทญี่ปุ่นกว่า 51.8% มีแนวโน้มคงสภาพธุรกิจในต่างประเทศโดยไม่ลงทุนเพิ่มในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 48.4%

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดอันดับ 10 ประเทศที่ญี่ปุ่นมองว่าน่าลงทุนมากที่สุดในปี 2021-2023 ได้แก่
อันดับที่ 1 “เวียดนาม” 28.8% นับว่าเป็นปีที่ 7 แล้วที่เวียดนามสามารถครองแชมป์อันดับหนึ่งได้ โดยสาเหตุที่ญี่ปุ่นมองว่าเวียดนามเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุด เนื่องจากตลาดมีศักยภาพในการเติบโตสูง มีค่าแรงต่ำ มีความมั่นคงทางการเมือง การเข้าลงทุนมีความสะดวก และตลาดแรงงานมีคุณภาพ ซึ่งอีก 3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีบริษัทที่วางแผนเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มสูงถึง 43.8%
อันดับที่ 2 “จีน” 7.4% สาเหตุหลักเนื่องจากศักยภาพในการเติบโตของตลาด มีซัพพลายเชนที่มั่นคง ตลาดแรงงานขนาดใหญ่ บุคลากรมีคุณภาพสูง อีกทั้งบริษัทญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยก็ได้เข้าไปลงทุนที่จีนแล้ว แต่คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จะมีบริษัทที่วางแผนเข้าไปลงทุนในจีนเพิ่มเพียงแค่ 12.9%.
อันดับที่ 3 “เมียนมาร์” 7.3% จากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 6 ในปีที่แล้ว สาเหตุเนื่องจากเมียนมาร์มีศักยภาพการเติบโตของตลาดสูง มีแรงงานจำนวนมาก ทั้งบุคลากรก็มีคุณภาพ ที่สำคัญมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น
อันดับที่ 4 “อินเดีย” 6.2% เนื่องจากตลาดมีแนวโน้มการเติบโตสูง ค่าแรงต่ำ บุคลากรมีคุณภาพ มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ และที่สำคัญมีการเข้าไปลงทุนโดยบริษัทญี่ปุ่นอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก
อันดับที่ 5 “อินโดนีเซีย” 6.1% ซึ่งสูสีกับอินเดียเป็นอย่างมาก มีคะแนนโหวตห่างกันเพียง 0.1% เท่านั้น โดยสาเหตุที่ญี่ปุ่นสนใจเข้าไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย ก็เป็นในลักษณะเดียวกันกับอินเดีย เพียงแต่เพิ่มมาอีกหนึ่งข้อคือ สามารถเข้าถึงวัตถุดิบราคาถูกได้ง่ายและสะดวก
อันดับที่ 6 “สหรัฐอเมริกา” 6.0% จากเดิมที่อยู่อันดับที่ 8 สหรัฐฯ คือประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก โดยสาเหตุหลักที่ญี่ปุ่นสนใจเข้าไปลงทุนเนื่องจากตลาดมีแนวโน้มการเติบโตสูง มีการเข้าไปลงทุนโดยบริษัทญี่ปุ่นแล้วจำนวนมาก โครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรมีคุณภาพสูง
อันดับที่ 7 “ไทย” 5.9% จากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 5 สาเหตุหลักที่ญี่ปุ่นต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศเนื่องจากมีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากได้เข้ามาลงทุนในไทยก่อนแล้ว อีกทั้งญี่ปุ่นยังมองว่าตลาดยังมีศักยภาพในการเติบโตอยู่ ซึ่งคาดว่าจะมีบริษัทอีกว่า 29.8% ที่วางแผนจะเข้ามาลงทุนเพิ่มในประเทศไทยในอีก 3 ปีข้างหน้า
อันดับที่ 8 “ฟิลิปปินส์” 3.9% จากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 7 ซึ่งในอีก 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีบริษัทญี่ปุ่นสนใจเข้าไปลงทุนเพิ่มอีกกว่า 34.7%
อันดับที่ 9 “ไต้หวัน” 1.9% หนึ่งในประเทศที่หลายคนมองว่ามีความคล้ายคลึงกับญี่ปุ่นอย่างมาก แตกต่างเพียงแค่ภาษาที่ใช้เท่านั้น ซึ่งญี่ปุ่นเองก็มองว่า ไต้หวัน เป็นอีกประเทศที่น่าเข้าไปร่วมลงทุนด้วยไม่ใช่น้อย
อันดับที่ 10 “เม็กซิโก” 1.6% เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าที่น่าสนใจ ทั้งรัฐบาลก็ได้มีการสนับสนุนทางการค้าระหว่างประเทศด้วย มีการเติบโตติดอันดับ 1 ใน 15 ประเทศผู้ส่งออกสูงสุดของโลก และยังมีข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ประเทศต่างๆ สนใจเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตและการค้า หนึ่งในนั้นก็คือ “ญี่ปุ่น” นั่นเอง
ทั้งนี้ จากข้อมูลด้านบน คือผลสำรวจในสายตาของบริษัทญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เวียดนาม คือประเทศที่น่าสนใจและน่าจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ เพราะเขาสามารถไต่ระดับขึ้นมาเป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว ถึงแม้ไทยจะตามหลังอยู่มาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะไม่สามารถไต่ขึ้นไปชิงอันดับได้ เพราะไม่ว่ายังไงไทยก็ยังถือเป็นประเทศที่ได้เปรียบในหลายด้านที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ศักยภาพของตลาด การเติบโต ภูมิศาสตร์ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต รวมถึงยังเป็นประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญอีกด้วย นอกจากนี้ความได้เปรียบเหล่านั้นจะไม่สามารถชนะประเทศอื่น ๆ ได้ หากขาดความร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
ที่มา : https://www.mreport.co.th/…/213-top-10-countries-to…http://tvbc.or.th/detail_event.php?qno=1814