คุณคิดว่าแต่ละรัฐควรให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการใช้กัญชาเท่าใด? เป็นที่ถกเถียงกันในประเทศไทย และระดับนานาชาติมานานว่า กัญชาควรจะได้รับการปลดล็อกทางกฎหมายหรือไม่ และมันควรได้รับการปลดล็อกในระดับไหน อย่างไรก็ดี สหประชาชาชาติ (United Nation) เพิ่งจะได้รับรองการใช้กัญชาในทางการแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) ที่ประชุมว่าด้วยยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ ได้นำกัญชาออกจากรายชื่อสิ่งเสพติดให้โทษร้ายแรง จากอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 (Single Convention on Narcotic Drugs) เพื่อจุดประสงค์ในการวิจัยและพัฒนากัญชาในทางการแพทย์ โดยสมาชิกตลอดจนรัฐต่างๆ 53 รัฐ ได้ออกเสียงรับรองด้วยคะแนน 27 ต่อ 25 ซึ่งรัฐที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการรับรองได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ ในขณะที่รัสเซีย และจีน ออกคะแนนเสียงค้าน เนื่องจากเหตุผลว่าการใช้กัญชาจะส่งผลให้ “เกิดอันตรายและการใช้ที่ผิด”

ถึงแม้ว่าการรับรองดังกล่าวจะไม่มีผลเชิงกฎหมายต่อรัฐต่างๆ โดยทันที แต่ผู้ชำนาญลงความเห็นว่า มติดังกล่าวอาจช่วยโน้มน้าว หรือเป็นแนวทางให้แต่ละรัฐหันมามองกัญชาในฐานะพืช ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และเปลี่ยนทัศนคติที่ไม่ดีต่อพวกมันได้ “นี่คือชัยชนะครั้งใหญ่ เป็นชัยชนะแห่งประวัติศาสตร์ของพวกเรา และเราหวังว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากขึ้นกว่าเดิม” เคนซี รีบูว์เรท ซีมูว์ลี (Kenzi Riboulet-Zemouli) นักวิจัยอิสระด้านกัญชาลงความเห็นว่า มติดังกล่าวจะช่วยนำสถานะของกัญชาที่เป็นยารักษาโรคกลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง หลังจากที่มันถูกใช้ในประวัติศาสตร์มานานนับพันปี

The New York Times รายงานว่า องค์การอนามัยโลก (World Health Organisation หรือ WHO) เป็นผู้เสนอการนำกัญชาออกจากรายชื่อสิ่งเสพติดให้โทษร้ายแรง เข้าไปในที่ประชุมตั้งแต่ช่วง ค.ศ.2019 แต่กลับถูกแย้งด้วยความเห็นต่างในทางการเมือง โดยมีรัฐสมาชิกบางประเทศเตะถ่วงเวลาการลงมติรับรองดังกล่าวออกไป

แอนนา ฟอร์ดแธม (Anna Fordham) คณะกรรมการหน่วยงานความร่วมมือด้านนโยบายยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Drug Policy Consortium) กล่าวว่า “การออกกฎหมายในครั้งแรก (เมื่อ ค.ศ.1961) เพื่อการห้ามเสพกัญชานั้น ได้ขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารับรอง และมันยังถูกตั้งอยู่บนอคติทางเชื้อชาติ จากรากทัศนะแบบอาณานิคม” ฟอร์ดแธม กล่าวเสริมอีกว่า “มันได้ละเมิดสิทธิของชุมนุมดั้งเดิมที่ปลูกและใช้กัญชาในทางการแพทย์ การบำบัด พิธีกรรมทางศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีมาร่วมหลายร้อยปี”

อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวเป็นเพียงแค่การนำกัญชาออกจากรายชื่อสิ่งเสพติดให้โทษร้ายแรง เพื่ออนุญาตให้ใช้ในเชิงการแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ มันยังไม่ถูกรับรองให้ใช้ในเชิงสันทนาการ และยังคงถูกจำกัดอยู่ในรายชื่อยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูง เช่นเดียวกันกับ โคเคน และยาแก้ปวดเฟนทานิล

กลับมาในบ้านเรา เช่นเดียวกันกับในระดับ UN ที่ประเทศไทยยังไม่รับรองการใช้กัญชาในฐานะการเสพเพื่อสันทนาการ แต่จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) เมื่อ พ.ศ.2562 ที่อนุญาต ให้ผู้ป่วยสามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ รวมถึงอนุญาติให้หน่วยงานรัฐ สถาบันศึกษา และวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมกับสถาบันศึกษาหรือหน่วยงานรัฐสามารถเพาะปลูกกัญชาได้ แต่ถึงแม้จะเป็นก้าวสำคัญของการใช้กัญชาในทางการแพทย์ แต่การปลูกก็ยังถูกจำกัดอยู่แค่ในวงภาครัฐเท่านั้น โดยไทยยังมีร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทย และฉบับประชาชน รวมทั้งสิ้น 3 ฉบับ ที่กำลังรอการพิจารณาอยู่ ซึ่งทุกร่างไม่มีการเสนอกัญชาในฐานะการเสพเพื่อสันทนาการ โดยคุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่https://thematter.co/quick-bite/cannabis-law/119706

อ้างอิงจาก

https://www.nytimes.com/…/cannabis-united-nations-drug…

https://www.vice.com/…/cannabis-is-officially-a…

https://thematter.co/quick-bite/cannabis-law/119706

https://www.hfocus.org/content/2019/08/17635

https://www.unodc.org/pdf/convention_1961_en.pdf#Brief#TheMATTER

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *