ลัดเลาะ เกาะสิงคโปร์ ชมการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน ตั้งแต่กระบวนการคัดแยกจากครัวเรือนสู่โรงไฟฟ้าขยะ ที่สามารถแก้ปัญหาขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังได้พลังงานมาใช้

สิงคโปร์ ประเทศที่มีความสะอาดติดอันดับโลก หากใครเคยไปเยือนจะเห็นว่าสองข้างทางสะอาดสะอ้านแทบไม่มีขยะให้เห็นเลย แม้จะเป็นเกาะเล็ก ๆ มีพื้นที่ประมาณ 720 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตของเราที่มีเนื้อที่ประมาณ 540 ตารางกิโลเมตร ไม่มากนัก แต่กลับมีธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์เป็นพื้นที่สีเขียวประมาณ 70 ตารางเมตรต่อประชากร ขณะที่กรุงเทพมหานครมีเพียง 7 ตารางเมตร 

วันนี้เราลองไปดูกันว่า สิงคโปร์ มีวิธีการจัดการขยะกันอย่างไร จนเกิดเป็นโรงไฟฟ้าขยะซึ่งเป็นระบบกำจัดขยะแบบเดียวของประเทศ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อความเป็นอยู่ของคนสิงคโปร์อย่างไร

โมเดลโรงไฟฟ้าสิงคโปร์ นำมาปรับใช้ในไทยได้อย่างไร

ภาพความสำเร็จในการจัดการขยะของสิงคโปร์ เป็นต้นแบบอย่างดีที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในหลายด้าน เริ่มตั้งแต่ตัวเราง่าย ๆ แค่เพียงช่วยกันคัดแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคใหม่ ด้วยการลดการใช้ เน้นใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดภาระในการกำจัดขยะที่ปลายทาง

เตาเผาขยะหรือโรงไฟฟ้าขยะของสิงคโปร์ ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เป็นระบบเดียวกับที่ประเทศไทยใช้ที่จังหวัดภูเก็ต ต่อมาก็ใช้ระบบเดียวกันที่หนองแขม กรุงเทพมหานคร และที่เทศบาลนครขอนแก่น แต่สิงคโปร์ได้วางแผนครบถ้วนจนถึงการใช้ประโยชน์จากเถ้าที่เหลือจากการเผา ซึ่งมีปริมาณในแต่ละวันไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณขยะที่นำเข้าไปกำจัด

ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จนี่เอง ที่จะทำให้ประชาชนให้ความเชื่อมั่นต่อโครงการต่อ ๆ ไปที่รัฐจะดำเนินการ ดังนั้น จากการที่ประเทศไทยได้มีโรงไฟฟ้าขยะขึ้นแล้ว โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ตที่เดินระบบมากว่า 20 ปี รัฐควรให้ความสำคัญที่ต้องพัฒนาให้เป็นตัวอย่างของโครงการที่ประสบความสำเร็จ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการจัดการขยะของท้องถิ่น ลดความกังวลเรื่องผลกระทบที่เป็นสาเหตุของการปฏิเสธโครงการใด ๆ ที่เกี่ยวกับขยะ ที่เราเรียกกันว่า NIMBY หรือ Not In My Back Yard.

ประโยชน์ที่ได้รับจากการสร้างโรงไฟฟ้าขยะสิงคโปร์

เตาเผาขยะที่ผลิตไฟฟ้าได้ หรือโรงไฟฟ้าขยะที่สิงคโปร์ เป็นระบบปลายทางในการกำจัดขยะที่สามารถลดการใช้พื้นที่ในการกำจัดขยะ นี่คือประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของโรงไฟฟ้าขยะ ประการต่อมาคือ พลังงานที่ได้รับเป็นผลพลอยได้ที่สำคัญ สามารถทดแทนการนำเข้าพลังงานและเชื้อเพลิงของสิงคโปร์ และประการสุดท้าย จากการจัดการที่ดี สิงคโปร์สามารถใช้เถ้าจากการเผาให้เกิดประโยชน์ เพิ่มพื้นที่และพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ทางธรรมชาติ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อีก

เกาะเซมาเกาที่เกิดจากการนำเถ้าจากการเผาขยะมาถม

เกาะเซมาเกา อยู่ห่างออกไปทางใต้ของเกาะสิงคโปร์ประมาณ 8 กิโลเมตร เกิดจากการเชื่อมเกาะ Pulau Semakau และ Palau Sakeng ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเข้าด้วยกัน แล้วกั้นบริเวณรอบ ๆ ด้วยเขื่อนหิน และมีถนนให้รถบรรทุกวิ่งขนเถ้าและเศษที่เหลือจากการเผาไปยังจุดถม ส่วนด้านล่างของหลุมฝังกลบรองด้วยวัสดุสังเคราะห์ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนกับน้ำทะเล พื้นที่ส่วนใดที่ถมเต็มแล้วก็จะถูกปิดทับด้วยดินธรรมชาติ แล้วพัฒนาเป็นป่าโกงกาง ปลูกหญ้าทะเล ดอกไม้ทะเล รวมถึงปะการัง จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติที่สวยงาม

การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานในสิงคโปร์

หลังจากคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อย่างขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิลออกไปแล้ว ขยะที่เหลือจะถูกส่งไปยังเตาเผาในรูปแบบของ Waste to Energy (WTE) หรือเราจะเรียกกันง่าย ๆ ว่าโรงไฟฟ้าขยะก็ได้ ปัจจุบันสิงคโปร์มีเตาเผาแบบนี้ จำนวน 4 แห่งด้วยกัน คือ เตาเผา Tuas, เตาเผา Tuas ตอนใต้, เตาเผา Senoko และเตาเผา Keppel Seghers Tuas (KSTP) โดยทั้งหมดเป็นโรงไฟฟ้าขยะทั้งสิ้น   

ส่วนเถ้าที่เหลือจากการเผาจะถูกขนไปยังสถานีขนถ่าย Tuas Marine Transfer Station (TMTS) เพื่อนำไปถมต่อเป็นเกาะเซมาเกา (Semakau Landfill)

จุดเริ่มต้นโครงการโรงไฟฟ้าขยะในสิงคโปร์

เมื่อ สิงคโปร์ เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่จำกัด การกำจัดขยะด้วยการฝังกลบที่ต้องใช้พื้นที่มาก ๆ จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี แม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะนำไปกลับไปใช้ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด แต่ปริมาณขยะที่มีผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ จำนวนประชากร คนทำงานและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้สิงคโปร์ตัดสินใจกำจัดขยะด้วยการเผา และเพื่อให้การเผาเกิดประโยชน์ จึงเลือกเทคโนโลยีการเผาที่สามารถผลิตพลังงานกลับคืนมาใช้ประโยชน์ สอดคล้องกับเรื่อง Energy Recovery ที่นำเสนอไว้ในตอนที่แล้ว ผลจากการเผาก็คือ เถ้า ซึ่งมีการวางแผนต่อเนื่องเพื่อนำเอาเถ้าเหล่านั้นไปใช้ในการถมทะเลจนกลายเป็นเกาะขึ้นมา

ระบบการจัดการขยะของสิงคโปร์

แม้จำนวนประชากรจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งประชากรที่เป็นคนสิงคโปร์ และต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือท่องเที่ยวในสิงคโปร์ พร้อม ๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยการจัดการที่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองสะอาดติดอันดับโลก และยังเป็นเมืองที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมยังตั้งเป้าหมายในอนาคตที่จะทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองปลอดขยะ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วยการสร้างวินัย ปลูกจิตสำนึก

ปัจจุบัน สิงคโปร์ได้ขอความร่วมมือให้ประชาชน สถานประกอบการ และสำนักงานต่าง ๆ ช่วยกันจัดเก็บรวบรวมและคัดแยกขยะ โดยกำหนดให้นำไปทิ้งตามวัน-เวลา หลังจากนั้นก็จะมีรถเก็บขยะตระเวนไปทั่วเมือง เพื่อรวบรวมแล้วนำไปกำจัดยังเตาเผาขยะที่สามารถรองรับขยะที่เกิดขึ้นรายวัน และผลิตพลังงานไฟฟ้าส่งกลับมาใช้ในชุมชน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *