อีกไม่กี่วันประเทศไทยก็จะเข้าสู่ “ฤดูฝน” อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศมีความชื้นมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้คนเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจกันบ่อยขึ้น โดยเฉพาะไข้หวัด และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ก็อาจจะลุกลามจนทำให้เป็น “ไซนัสอักเสบ” ได้

โรคไซนัสอักเสบคืออะไร
โรคไซนัสอักเสบ เป็นการอักเสบของเยื่อบุในโพรงจมูกและไซนัส โดยคนไข้จะมีอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก มีน้ำมูก อาจจะมีน้ำมูกทางด้านหน้าจมูก หรือมีน้ำมูกลงคอก็ได้ ในบางรายอาจจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดใบหน้า ปวดกระบอกตา ปวดรากฟันโดยเฉพาะฟันบน เนื่องจากการที่ไซนัสอักเสบทำให้ปวดร้าวไปอวัยวะบริเวณใกล้เคียงได้ นอกจากนี้บางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการรับกลิ่นที่ลดลง หรือไม่ได้กลิ่นเลย
โรคไซนัสอักเสบ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน คือมีอาการน้อยกว่า 12 สัปดาห์ และไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง คือมีอาการที่มากกว่า 12 สัปดาห์ ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน” เท่านั้น
ไข้หวัดต่างจากไซนัสอักเสบอย่างไร
“โรคไข้หวัด” คนไข้จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ ไอ หรือเจ็บคอได้ โดยทั่วไปอาการทุกอย่างจะค่อนข้างมากในช่วง 2-3 วันแรก ถ้าได้รับการรักษาตามอาการ มักจะดีขึ้นและหายไปภายใน 7-10 วัน หากอาการที่กล่าวมาทั้งหมดไม่หายภายใน 7-10 วัน หรือในบางรายที่อาการดีขึ้น แต่กลับแย่ลงไปอีก ก็ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นไซนัสอักเสบได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่าเป็นไซนัสหรือไม่อย่างไร
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
สาเหตุหลักของไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน คือ เกิดจากการเป็นไข้หวัด ซึ่งโดยส่วนมากมักเกิดจากเชื้อไวรัส การติดเชื้อนี้สามารถลุกลามไปยังโพรงไซนัสได้ ทำให้เยื่อบุโพรงไซนัสบวม การระบายของของเหลวหรือสารคัดหลั่งในโพรงไซนัสก็เป็นไปได้ยาก ทำให้เกิดการขังอยู่ในโพรงไซนัส และเกิดเป็นหนองได้
ฟันผุ โดยเฉพาะฟันที่ติดกับโพรงไซนัส ก็คือฟันบน หากมีอาการฟันผุ แล้วอักเสบไปถึงรากฟัน หรือว่ามีโพรงเล็กที่เชื่อมต่อระหว่างโพรงไซนัสกับรากฟัน ก็ทำให้การติดเชื้อจากฟันลุกลามเข้าไปยังโพรงไซนัสได้ การติดเชื้อลักษณะนี้มักจะเกิดเพียงข้างเดียว หากมีน้ำมูกเขียวเพียงข้างเดียว ก็ควรพิจารณาตรวจฟันร่วมด้วยเป็นพิเศษ
ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ คนไข้กลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็ทำให้ไซนัสมีการอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป และหากเป็นแล้วอาการก็จะรุนแรงกว่าคนทั่วไป
โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่ส่งผลต่อการทำงานของขนกวัดในจมูก ทำให้การกำจัดสิ่งแปลกปลอมทำได้ไม่ดี ซึ่งอาการนี้จะแสดงตั้งแต่เด็ก และมักมีการติดเชื้อบริเวณอื่นร่วมด้วย นั่นคือ ปอดอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบร่วมด้วย
คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ แต่อาจจะเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้หากเกิดอาการไซนัสอักเสบแล้ว จะมีอาการเยอะมากกว่าคนปกติได้
การวินิจฉัยโรค
แพทย์วินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันจากการซักประวัติอาการและการตรวจร่างกายของคนไข้เป็นหลัก โดยคนไข้จะต้องมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล อาจจะมีอาการปวดหัว ปวดใบหน้า หรือมีปัญหาเรื่องการรับกลิ่น ร่วมกับการตรวจพบมูกหนองออกมาจากโพรงไซนัส หรือมูกหนองหลังโพรงจมูก
นอกจากนี้ยังมีการส่งตรวจพิเศษ คือ การทำ CT Scan ซึ่งไม่ได้ทำในผู้ป่วยทุกรายที่มารักษาในครั้งแรก การตรวจพิเศษจะใช้ในกรณีที่คนไข้รักษาไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่าเป็นโรคอื่น เช่น เนื้องอกในโพรงจมูก การตรวจ CT Scan ก็จะช่วยวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น หรือในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการเป็นไซนัสอักเสบ เช่น มีการติดเชื้อลุกลามไปนอกโพรงไซนัส เช่น การติดเชื้อที่ตา การติดเชื้อบริเวณกะโหลกศีรษะ หากพบว่าคนไข้มีภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ก็จะต้องส่งตรวจ CT Scan หรือ MRI เพิ่มเติม
สัปดาห์หน้ายังมีความรู้ของความอันตรายและความรุนแรงของโรค การรักษา การดูแลตนเอง และการป้องกัน รอติดตามกันนะคะ
แหล่งข้อมูล
อ.พญ.กังสดาล ตันจรารักษ์ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล