เมื่อหลายปีก่อนมาร์กาเรท มีด (Margaret Mead) นักมานุษยวิทยาชื่อดัง ตอบคำถามนักศึกษาคนหนึ่งว่า อะไรคือสัญญาณแรกที่สะท้อนความเป็นอารยธรรมในวัฒนธรรมของระบบสังคมมนุษย์ นักศึกษาคนนี้คาดหวังว่าอาจารย์คงอธิบายบอกเล่าถึงคำตอบที่น่าจะเกี่ยวกับเครื่องมือจับปลา ถ้วยปั้นดินเผาหรืออาจเป็นรูปปั้นหินอะไรทำนองนี้

คำตอบไม่ใช่เลย มีดตอบว่าสัญญาณแรกที่สะท้อนถึงความเป็นอารยธรรมในวัฒนธรรมโบราญ คือกระดูกต้นขาที่มีรอยแตกร้าวและได้รับการเยียวยา มีดอธิบายเพิ่มเติมว่าสำหรับอาณาจักรสัตว์โลกแล้ว ถ้ากระดูกของคุณแตกหักคุณตายแน่นอนเพราะคุณจะไม่สามารถหลบหนีภัยอันตรายได้ ไม่สามารถเดินทางเพื่อล่า เพื่อหาอาหาร เพื่อดื่มน้ำในลำธารได้ คุณต้องเป็นอาหารของสัตว์นักล่า ไม่มีสัตว์โลกตัวไหนรอดชีวิตนานพอให้กระดูกที่แตกหักได้รับการเชื่อมต่อจนหายได้

ซากกระดูกต้นขาที่ได้รับการเยียวยาจึงเป็นหลักฐานที่สะท้อนว่ามีใครคนหนึ่งอยู่เคียงข้างคนบาดเจ็บจนกระทั่งกระดูกของเขาหายดีได้ คนๆนี้จะต้องคอยแบกหามคนบาดเจ็บให้อยู่รอดปลอดภัยจนหายบาดเจ็บได้

การช่วยเหลือกันภายใต้ภาวะที่ยากลำบากจึงเป็นสื่อสัญญาณที่แสดงว่า ณ จุดนั้นอารยธรรมความศิวิไลย์ของมนุษย์ได้เริ่มต้นแล้ว

ความมีอารยธรรมอันศิวิไลย์คือ เราเลือกทำสิ่งดีงามมาก คือการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อคนอื่น

ท่ามกลางสัญชาตญาณเอาตัวรอดที่ความกลัวกำลังคุกคามอันเนื่องจากภาวะโรคระบาดโควิด19 งานท้าทายของชุมชนกรุณาคือเราจะเอาชนะเท่าทันความกลัวต่อไวรัสอย่างไรเพื่อไม่ให้ภาวะความกลัวขยายใหญ่โตจนกระทั่งกระตุ้นสัญชาตญาณเอาตัวรอดจนทำให้เราเพิกเฉยละทิ้งคนอื่นหรือกระทำรุนแรงกระทั้งพร้อมเบียดเบียนแย่งชิงจากคนอื่น

ความกลัวสร้างสำนึกที่ต้องการความปลอดภัยแต่ความปลอดภัยที่แท้ต้องมาจากการช่วยเหลือการมีน้ำใจต่อผู้ที่อ่อนด้อยอ่อนแอกว่าไม่ใช่การกีดกันแย่งชิงเพื่อเอาตัวรอด และนี่คือแบบฝึกหัดสำคัญในการก้าวผ่านสู่ชีวิตในชุมชนกรุณา

เราจะอยู่รอดด้วยการช่วยเหลือไม่ใช่ด้วยการกีดกัน

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

อ้างอิง

Byock, I. (2012). The Best Care Possible: A Physician’s Quest to Transform Care Through the End of Life. Avery.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *