เมื่อกองทัพสหภาพโซเวียตของพวกรัสเซีย บุกเข้ายึดกรุงเบอร์ลิน ของเยอรมันได้สำเร็จ เยอรมันก็ได้พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ลงอย่างสิ้นเชิง

เมื่อวันที่ 1-19 เม.ย. ค.ศ.1945 ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่2 การรบรอบๆ ชานกรุงเบอร์ลินของเยอรมัน ก็เปิดฉากขึ้น ในช่วงแรกของการเข้าโจมตีเบอร์ลินของกองทัพสหภาพโซเวียต รัสเซีย นั้นเต็มไปด้วยความสูญเสีย เนื่องจากทหารเยอรมันต่อสู้อย่างทรหด รัสเซียเสียรถถังไปถึง 2,807 คัน ส่วนใหญ่จากอาวุธต่อสู้รถถังแบบ Panzerfaust ซึ่งความสำเร็จของอาวุธชนิดนี้ ทำให้ต่อมารัสเซียได้นำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาเป็น “เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจี” นั่นเอง

กองทัพสหภาพโซเวียตของพวกรัสเซีย บุกเข้ายึดกรุงเบอร์ลิน – เยอรมันก็ได้พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

ในวันที่ 20 เมษายน 1945 กองทัพโซเวียต รัสเซีย ก็ได้มาเหยียบชานกรุงเบอร์ลิน ซึ่งวันนี้เป็นวันเกิดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โซเวียตจึงส่งเค้กวันเกิดก้อนโตเป็น ปืนใหญ่ของกองกำลังแนวหน้าเบโลรุสเซียที่ 1 (1st Belorussia Front) ของโซเวียต ที่เปิดฉากยิงถล่มนครเบอร์ลินอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง จนไปสิ้นสุดการยิงลงเมื่อเยอรมันยอมแพ้ ประมาณกันว่ามีการใช้กระสุนปืนใหญ่มากกว่าสองล้านนัด และเป็นการยิงที่ใช้กระสุนมากกว่าการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเหนือนครเบอร์ลินตลอดสงครามขณะเดียวกัน กองกำลังแนวหน้าเบโลรุสเซียที่ 2 ของโซเวียตก็โจมตีปีกของกองทัพกลุ่มวิสทูร่า (Vistula) ของเยอรมัน


วันต่อมากองทัพรถถังที่สอง นำโดยนายพลบอคโดนอฟ (Bogdonov) ก็รุกเข้าสู่กรุงเบอร์ลินทางทิศเหนือ ฮิตเลอร์บัญชาการรบในการรักษากรุงเบอร์ลินด้วยตนเองจากบังเกอร์หลบภัยด้านหลังของที่ทำการอัครมหาเสนาบดีของเขา (Chancellor) เขาสั่งให้กองทัพที่ 9 (the IX Army) รักษาแนวตั้งรับที่คอทท์บุสเอาไว้ แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากฝ่ายเสนาธิการของเขาว่า หากไม่ถอนกองทัพที่ 9 ออกมาอย่างทันท่วงที กองทัพที่ 9 จะตกอยู่ในวงล้อมของโซเวียตและถูกทำลายในที่สุด สถานการณ์เป็นไปอย่างสิ้นหวังสำหรับฝ่ายเยอรมัน แม้ทหารเยอรมันจะพยายามต้านทานอย่างเหนียวแน่น โดยการดัดแปลงที่มั่นตามซากอาคารให้เป็นป้อมปราการ แต่ทหารรัสเซียก็ยังคงรุกคืบหน้าเข้ามาเรื่อยๆ จากอาคารหนึ่งสู่อีกอาคารหนึ่ง จากถนนสายหนึ่งสู่ถนนอีกสายหนึ่ง มีหลายครั้งที่ทหารของทั้งสองฝ่ายต้องทำการแบบประชิดตัว ส่งผลให้เกิดการสูญเสียอย่างหนักเนื่องจากไม่มีฝ่ายใดต้องการจับเชลยให้เป็นภาระในการรบที่ยืดเยื้อติดพัน นอกจากนี้รถถังของโซเวียต T 34 แม้จะมีศักยภาพในการรบในทุ่งกว้างหรือสมรภูมิที่เปิดโล่ง

แต่เมื่อต้องทำการรบในเมืองที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ที่กลายเป็นสิ่งกีดขวางการเคลื่อนที่ของยานเกราะ ก็ทำให้ประสิทธิภาพของรถถังชนิดนี้ด้อยลงไปอย่างมาก ในทางตรงกันข้ามเยอรมันได้ใช้รถถังทุกชนิดที่มีอยู่ในการตั้งรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นรถถังแบบ ไทเกอร์ แพนเธอร์ และแพนเซอร์ มาร์ค 4 สร้างความเสียหายให้กับรถถังของโซเวียตเป็นจำนวนมาก

 

กองทัพสหภาพโซเวียตของพวกรัสเซีย บุกเข้ายึดกรุงเบอร์ลิน – เยอรมันก็ได้พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

เพียงสามวันด้วยกำลังพลมหาศาล ในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ.1945 กองทัพที่ 5 และกองทัพรถถังที่ 1 ของโซเวียตสามารถ รุกเข้าเมืองจากด้านตะวันออกเฉียงใต้ และสามารถเจาะแนวตั้งรับของเยอรมันจนถึงสถานีรถไฟรอบเมืองเบอร์ลินในวันรุ่งขึ้น ขณะเดียวกำลังเสริมของฝ่ายเยอรมันที่ฮิตเลอร์สั่งการให้เข้ามาเสริมแนวป้องกันในกรุงเบอร์ลินก็ไม่สามารถฝ่าวงล้อมทหารโซเวียตเข้ามาในเมืองได้ตามแผนการที่วางไว้

 

มีเพียงหน่วยทหาร เอส เอส ของอาสาสมัครฝรั่งเศสสังกัดกองพันจู่โจม ชาร์ลเลอมังค์ (Sturmbatallion “Charlemagne”) ประมาณ 340 นายเท่านั้นที่สามารถฝ่าวงล้อมเข้ามาได้ และเข้ารับผิดชอบพื้นที่ Sector C ที่มีการโจมตีจากรัสเซียรุนแรงที่สุด ทหารอาสาสมัครฝรั่งเศสเหล่านี้เลือกที่จะสละชีวิตในการปกป้องกรุงเบอร์ลินมากกว่าที่จะเดินทางกลับฝรั่งเศสในฐานะผู้ทรยศต่อประเทศ ซึ่งโทษของพวกเขาก็คือการถูกประหารชีวิตนั่นเอง ดังนั้นทหารฝรั่งเศสเหล่านี้จึงพร้อมที่จะต่อสู้จนถึงที่สุดกองพันจู่โจม ชาร์ลเลอมังค์ เดินทางเข้าสมทบกับกองพลอาสาสมัครทหารราบยานเกราะ เอส เอส ที่ 11 นอร์ดลันด์ (11st SS Volunteer Panzergrenadier Division Nordland) และเริ่มทำการรบร่วมกับกลุ่มยุวชนฮิตเลอร์บริเวณรอบๆ กรุงเบอร์ลินด้วยการจัดชุดออกล่าทำลายรถถังของโซเวียตที่รุกเข้าสู่ตัวเมือง


โดยได้รับการสนับสนุนจากรถไทเกอร์ และกรมยานเกราะ เอส เอส ที่ 11 “แฮร์มานน์ ฟอน ซาลซา” (The SS Panzer Regiment 11 “Herrmann von Salza”) ซึ่งภายในช่วงเวลาสั้นๆ พวกเขาสามารถทำลายรถถังที 34 ได้เป็นจำนวน 14 คันด้วยเครื่องยิงระเบิดต่อสู้รถถัง Panzerfaust ก่อนที่จะถูกทหารรัสเซียรุกเข้ามาทุกทิศทุกทาง จนต้องล่าถอยไปตั้งรับอยู่บริเวณรอบๆ หลุมหลบภัยของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และกองพันจู่โจม ชาร์ล เลอมังค์ ได้กลายเป็นกองกำลังทหารเยอรมันชุดสุดท้ายที่ต่อสู้จนการรบในกรุงเบอร์ลินยุติลง

ในสองวันต่อมาคือวันที่ 25เมษายน กองทัพเบลารุสที่2 ได้บุกเข้าทำลายแนวของกองทัพแพนเซอร์ที่ 3 ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับหัวสะพานทางใต้ของเมือง สเต็นใตน์และได้ข้าม บึงแรนโดว์ (Rando Swamp) มุ่งหน้าไปทางตะวันตก จนได้พบกองทัพของอังกฤษ คือกลุ่มกองทัพบริเตนที่21 (British 21st Army Group) และยึดท่าเรือทางเหนือของทะเลบอลติกชื่อ สทราซูด (Stralsund) ในที่สุดเหตุการณ์สำคัญในสงครามโลกครั้งที่สองก็ได้เกิดขึ้น เมื่อกองพลทหารการด์ที่ (58th Guards Division) ในสังกัดของกองทัพการด์ที่ 5 (5th Guards Army) ของสหภาพโซเวียต ได้พบปะกับกองทัพอเมริกันเป็นครั้งแรก นั้นคือกองพลทหารราบที่ 69(US 69th Infantry Division) ใกล้ๆกับตอร์เกา บนแม่น้ำเอลเบ

กองทัพของสหภาพโซเวียต รัสเซีย พยายามบุกเข้ายึดเบอร์ลินเรื่อยมาจนถึงวันที่ 29 เมษายน เวลา 04.00 น. ภายในบังเกอร์ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้คาดการณ์ถึงสถานการณ์ในการรบว่าคงพ่ายแพ้เป็นแน่ เขาได้ลงนามในพินัยกรรม และเข้าพิธีแต่งงานกับอีวา บราวน์ (Eva Braun) คนรัก ในขณะเดียวกันกองทัพที่ 3 (the 3rd Shock Army) ของโซเวียตก็ข้ามสะพานโมลท์เกอ (Moltke) มาได้และเริ่มกระจายกำลังเข้าสู่ถนนและอาคารต่างๆ ในกรุงเบอร์ลิน เริ่มต้นที่กระทรวงมหาดไทย แต่ทหารโซเวียตก็ไม่สามารถรุกคืบหน้าไปได้มากนัก เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากปืนใหญ่ที่ยังไม่สามารถข้ามสะพานมาได้ เนื่องจากสะพานได้รับความเสียหายอย่างหนัก โซเวียตจึงหันเข้าตึและยึดตึกกองบัญชาการตำรวจลับเกสตาโป แต่ก็ถูกทหารหน่วยเอส เอส ที่อยู่ภายในตัวอาคารตอบโต้จนต้องล่าถอยกลับไป


ในวันต่อมาสะพานโมลท์เกอได้รับการซ่อมแซมเสร็จสมบูรณ์ รถถังและปืนใหญ่ของโซเวียต ก็เริ่มเคลื่อนกำลังเข้าสู่ตัวเมืองเพื่อทำการยิงสนับสนุนทหารราบโดยทำการยิงทำลายอาคารทีละหลัง จนอาคารต่างๆ ถูกทำลายลงจนหมดสิ้น หน่วยรถถังของโซได้สนธิกำลังกับทหารราบเข้าโจมตีอาคารรัฐสภาไรซ์สตาค (Reichstag) ซึ่งตัวอาคารรัฐสภาแห่งนี้ไม่ได้ใช้การมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.1933 และได้ถูกทหารเยอรมันดัดแปลงเป็นที่มั่นที่แข็งแรง อีกทั้งยังมีปืนใหญ่ขนาด 88 มม. อันเลื่องชื่อซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ยิงสนับสนุนเพื่อตอบโต้การเข้าตีของโซเวียตอย่างรุนแรง การรบในตัวอาคารรัฐสภาเป็นไปแบบห้องสู่ห้อง ซึ่งโซเวียตต้องใช้เวลาถึง 2 วันกว่าที่จะกวาดล้างทหารเยอรมันออกไปได้ทั้งหมด

และวันอวสานแห่งกองทัพเยอรมันก็มาถึง 2 พฤษภาคม 1945 นครเบอร์ลินก็ตกเป็นของสหภาพโซเวียต รัสเซีย และในวันที่ 7 พฤษภาคม 1945 นายพลไวด์ลิงค์(General Weidling) ผู้บัญชาการป้องกันเบอร์ลินก็ประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข นับเป็นการปิดฉากสงครามโลกครั้งที่2 ในทวีปยุโรปลงอย่างสิ้นเชิง ท่ามกลางความสูญเสียของกำลังพลทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีการประเมินความสูญเสียไว้เฉพาะในระหว่างยุทธการยึดกรุงเบอร์ลินว่า ฝ่ายโซเวียตมีทหารเสียชีวิตจากการสู้รบ 80,000 คน บาดเจ็บและสูญหาย 275,000 คน ส่วนเยอรมันสูญเสียทหาร 150,000 คนในการรบตั้งแต่การรุกรอบนอกกรุงเบอร์ลินและเสียชีวิตเฉพาะการรบในเมืองกว่า 20,000 คน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *