วันที่ 3 มกราคม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ องค์การมหาชน หรือ สดร เปิดเผยว่า คืนวันนี้ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 4 มกราคม 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกควอดรานติดส์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณระหว่างกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์และกลุ่มดาวมังกร ทั้งนี้ ฝนดาวตกควอดรานติดส์ มีอัตราการตกสูงสุด 120 ดวงต่อชั่วโมง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ เนื่องจากช่วงนี้ไม่มีแสงจันทร์รบกวน

ในรอบปีมีฝนดาวตกหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีลักษณะและจำนวนความถี่แตกต่างกันตามแต่องค์ประกอบและความเร็วของสะเก็ดดาว ฝนดาวตกบางกลุ่มอาจมีเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมง แต่ก็ยังเรียกว่าฝนดาวตก ดาวตกจากฝนดาวตกสามารถปรากฏในบริเวณใดก็ได้ทั่วท้องฟ้า แต่เมื่อลากเส้นย้อนไปตามแนวของดาวตก จะไปบรรจบกันที่จุดหนึ่ง เราเรียกจุดนั้นว่าจุดกระจาย radiant ชื่อฝนดาวตกมักตั้งตามกลุ่มดาวหรือดาวฤกษ์ที่อยู่บริเวณใกล้จุดกระจาย

สำหรับฝนดาวตกดังกล่าว เกิดจากเศษอนุภาคที่เหลือจากดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช 1 ที่เคลื่อนผ่านวงโคจรโลก เมื่อโลกใกล้บริเวณดังกล่าวจะดึงดูดเศษหินและฝุ่นเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศจนเกิดเป็นลำแสงที่งดงาม

ขอบคุณ สมาคมดาราศาสตร์ไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *