By: Coach for GOAL
ปรากฏการณ์ทางความคิด: ยิ่งรู้น้อย ยิ่งเข้าใจว่าตัวเองเก่งมาก
.
เคยสังเกตไหม ว่าทำไมบางคน จึงมั่นใจว่าตัวเองเก่งกว่าความเป็นจริง จนบางที เราถึงกับนึกว่า หากเขามีความสามารถนั้นได้เศษเสี้ยวของความมั่นใจคงจะดี
.
คำตอบของสิ่งนี้ถูกเฉลยด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ เมื่อนักจิตวิทยาสองคน ได้แก่ Dunning & Kruger ได้ทำการวิจัย ซึ่งสามารถสรุปใจความสั้นๆ ได้ว่า
.
ที่คนเรามั่นใจเกินความรู้ เพราะว่า “รู้น้อยจนไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรอีกมาก”
.
ช่วงแรก ที่ไม่รู้อะไรเลย คนเรารู้ตัวดีว่ายังขาดความรู้ ต่อมา เมื่อเริ่มรู้เล็กน้อย หลายคนจะเกิดอาการ “ร้อนวิชา” และเข้าใจผิดว่า ตัวเองรู้มากเกินกว่าความเป็นจริง ความมั่นใจจะถาโถมเข้ามาจนล้นปรี่ บ้างก็คุยโวจนเป็นที่น่าหมั่นไส้ของเพื่อนๆ
.
ปรากฏการณ์รู้น้อยแต่มั่นใจมาก จึงเกิดขึ้นตอนนี้ และเป็นอคติทางความคิด (Cognitive Bias) แบบหนึ่งที่ทำให้คนคิดและแสดงพฤติกรรมเหมือนกับสำนวนไทยที่ว่า “กบในกะลา” ที่เข้าใจว่าภายใต้กะลา คือ โลกทั้งหมด และไม่รู้ว่ายังมีโลกใบที่ใหญ่กว่าอยู่ จึงคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ และไม่เห็นว่าต้องรู้อะไรเพิ่มอีก
.
ที่สำคัญ #มันเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่ตัวเรา และความหลงผิดนี้ เป็นศัตรูตัวร้ายลำดับต้นๆ ของการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง!!
.
จนกว่าจะมีความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น และมากเพียงพอที่ทำให้รู้สึกตัวได้ว่า กะลาใบนั้นเป็นเพียงโลกปลอมๆ ที่ตนเองสร้างขึ้น และมันไม่ใช่โลกที่แท้จริง
.
เมื่อเริ่มรู้สึกตัว การเรียนรู้ที่แท้จริง ก็เริ่มต้น ณ จุดเดียวกัน
.
ผู้ที่ถูกยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ (เรียกแบบนี้ เพราะคิดว่าเขาคงไม่เคยยืดอก เที่ยวป่าวประกาศตัวเองว่า ฉันคือนักปราชญ์นะโว้ย) จึงมักใช้วิธีนี้ เพื่อสร้างการเรียนรู้
.
เช่น ขงจื้อที่มองว่า หนทางสู่การเรียนรู้ คือ ต้องรู้ว่าตัวเองไม่รู้เสียก่อน
.
ส่วนโสกราติส ที่อยู่ห่างออกไปในอีกซีกโลก ก็คิดคล้ายกัน โดยแกมักบอกเสมอว่า “ข้าพเจ้ารู้อย่างเดียวว่าข้าพเจ้าไม่รู้” (ซึ่งกลายเป็นวาทะซิกเนเจอร์ที่สร้างความประทับใจ และงงงวยแก่ผู้คนไปพร้อมๆกัน) เพื่อ เคาะกะโหลก เตือนตัวเองว่ายังต้องค้นหาความรู้อีกเยอะ
.
ยิ่งกว่านั้น แกยังเริ่มต้นเคาะกะโหลก เปิดกะลาคนอื่นๆ ด้วยการเที่ยวไล่ถามคนที่เข้าใจว่ารู้เยอะ รู้มากแล้ว จนคนพวกนั้นจนมุมกับคำถามพิสดารเจาะลึกของแก จนตระหนักรู้ตัว (ทั้งในแบบเต็มใจและไม่เต็มใจ) ว่าจริงๆแล้ว (กรู) ก็ไม่ได้รู้อะไรมากเท่าไรนี่หว่า
.
เรียกว่าเป็นวิธีการสร้างการรู้ตัว (Self-awareness) ที่แสบสันต์ไม่เบา แต่ก็ได้ผลชะงัก
.
ขงจื้อ จากโลกไปแล้ว กว่า 2,500 ปี

ในอีกเกือบร้อยปีถัดมา โสกราติสก็ไม่อยู่เคาะกะโหลกใคร ให้ออกจากกะลาแล้ว
…..
แต่ “ความไม่รู้” ยังคงอยู่กับเราทุกคนเหมือนเดิม
และ “การนึกว่าตัวเองรู้ทั้งๆ ที่ไม่รู้” ก็ยังตามติดกับคนบางคนต่อไป
.
ตราบเท่าที่ยังไม่รู้ตัวว่า ยังโลกใบนี้กว้างใหญ่กว่ากะลาที่ครอบอยู่
ความมั่นใจผิดๆ ที่ทำให้มนุษย์เราคุยโอ่ ทั้งที่รู้น้อย ก็ยังทำหน้าที่ของมันต่อไปเรื่อยๆ
.
ว่าแต่ ตอนนี้คุณยังมีเรื่องไหน ที่มั่นใจว่าตัวเองเก่งมากๆ จนไม่ต้องเรียนรู้บ้างไหมล่ะ?
—————————
แชร์ให้คนใกล้ตัวคุณ รู้สิ่งนี้และเผ่นออกนอกกะลากันเถอะ

—————————
Story & Infographic: aniruthT
Ref: Kruger and Dunning’s 1999 study, “Unskilled and Unaware of It: How Difficulties in Recognizing One’s Own Incompetence Lead to Inflated Self-Assessments”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *